Menopause: วัยหมดประจำเดือน

 


วัยหมดระดู  คือ ภาวะที่รังไข่หยุดทำงานโดยสิ้นเชิง คือไม่สามารถผลิตฮอร์โมน และไม่มีการตกไข่อีกแล้ว โดยสามารถสังเกตได้จากการที่ไม่มีประจำเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 12 เดือน นับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย อายุของสตรีวัยหมดระดูจะอยู่ในช่วง 43-57 ปี  โดยจะมีค่าเฉลี่ยอายุประมาณ 50 ปี อย่างไรก็ตามอาจมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกิดการหมดระดูเร็วขึ้น เช่น การสูบบุหรี่, การตัดมดลูกและรังไข่จากโรคบางชนิด เช่น เนื้องอกมดลูก หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ภาวะแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง (Autoimmune), การอยู่อาศัยในที่สูง รวมถึงการได้รับยาเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกราน

สาเหตุ                                                                                                      

การหมดระดูเป็นผลมาจากการที่รังไข่ไม่ตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมน จากต่อมใต้สมองส่วนหน้าและมีการลดลงของจำนวนไข่ (follicle) ในรังไข่, ไม่สมารถผลิตฮอร์โมนเอสโตนเจนและโปรเจสเตอโรน โดยจะเริ่มลดลงหลังจากการเริ่มมีประจำเดือนไปแล้ว 20-25 ปี เป็นผลทำให้ไม่มีการตกไข่รอบประจำเดือนจะสั้นลง อาจมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน ประจำเดือนมามากขาดหายไป หรือประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมีผลทำให้สตรีในวัยนี้ได้รับการขูดมดลูก เพื่อตรวจหาภาวะของมะเร็งเนื่องจากการมีเลือดออกผิดปกติ (ภาวะของมะเร็งมดลูก + ปากมดลูกมักจะทำให้มีอาการเลือดออกผิดปกติได้เช่นกัน) นอกจากนี้อาจมีภาวะร้อนวูบวาบ หงุดหงิด นอนไม่หลับ อารมณ์เปลี่ยนแปลง ปวดศีรษะ คัดตึงเต้านม ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นก่อนการหมดประจำเดือน 5-10 ปี  และอาการมักจะคงอยู่หลังจากหมดประจำเดือนประมาณ  1- 5 ปี                                                    

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายของผู้ที่มีภาวะหมดระดู                                                               

1.  อาการหมดระดู นอกจากการไม่มีประจำเดือนแล้ว อาการที่มักพบคือ อาการร้อนวูบวาบ ซึ่งพบประมาณ 75%  โดยมีอาการร้อนวูบวาบบริเวณสะดือ ขึ้นไปที่ใบหน้า และคอ ตามด้วยมีเหงื่อออก ใจสั่น, เวียนศีรษะ รู้สึกหนาวทั้งที่อากาศรอบข้างไม่เข้ากับอาการแสดงของร่างกายมีอาการนอนไม่หลับทำให้อ่อนเพลียและหงุดหงิดง่าย                                                                                                                  

2.  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เนื่องจากมีการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน  และจำนวนของเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้มดลูกฝ่อเล็กลง  ผนังช่องคลอด และปากช่องคลอดแห้งบาง  มีผลทำให้เวลามีเพศสัมพันธ์ จะมีอาการเจ็บและอักเสบง่ายขึ้น มีการหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อบริเวณฝีเย็บ และกระบังลมทำให้มีการยื่นหย่อนของกระเพาะปัสสาวะ (Cystocele), มดลูก  ( Prolapse  uterus) หรือลำไส้ใหญ่ (rectocele) ได้        

3.  ระบบทางเดินปัสสาวะ ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะจะฝ่อและบางลง ทำให้มีการติดเชื้อง่ายขึ้น อาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย และนอกจากนี้ความเป็นกรดด่าง (PH) ในช่องคลอดลดลง ทำให้เกิดอาการคัน และมีกลิ่น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในช่องคลอด                                           

4.  ผิวหนังและต่อมใต้ผิวหนัง ผิวหนังจะลดความยืดหยุ่นลง ขาดความชุ่มชื้น แห้ง และฝ่อบางเป็นแผลได้ง่าย เต้านมมีอาการฝ่อลงและเนื้อเต้านมถูกแทนที่โดยไขมัน                                                                

5.  ภาวะกระดูกพรุน เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ลดลงจะทำให้เกิดภาวะเนื้อกระดูกพรุนกระดูกกร่อนลง ซึ่งเป็นภาวะที่สำคัญที่สุดในสตรีสูงอายุ เพราะเนื้อกระดูกจะลดลงประมาณ 1-4 % ของทุก ๆ ปีภายหลังจากหมดระดู  การวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนทำได้โดยวัดความหนาแน่นของกระดูก  ถ้าค่าความหนาแน่นของกระดูกน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2.5 จากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานก็จะถือว่าเกิดภาวะกระดูกพรุน ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งเสริมที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนคือ การสูบบุหรี่, คนที่มีร่างกายผอมบาง (น้ำหนักน้อยกว่า 50 กิโลกรัม หรือ 127 ปอนด์)  ภาวะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือสตรีที่หมดระดูเร็ว (อายุน้อยกว่า 45 ปี)  การขาดแคลเซียม (บริโภคแคลเซียมน้อยกว่า 400 มิลลิกรัม/ วัน) การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การขาดการออกกำลังกาย หรือภาวะทุโภชนาการ ถ้ามีภาวะกระดูกพรุนจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ กระดูกสันหลังหักแบบยุบตัว ทำให้มีอาการปวดหลัง หลังโก่งคด และอาจไปกดทับเส้นประสาทที่ไขสันหลังได้ หรือกระดูกสะโพก และต้นขาหักง่าย ทำให้เดินไม่ได้ เสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือกระดูกข้อมือและต้นแขนหักง่าย แม้จะมีอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็ทำให้กระดูกหักได้                                                                                                                   

6. ระบบหัวใจและหลอดเลือด จากภาวะที่ร่างกายของฮอร์โมนเอสโตนเจน ทำให้สตรีวัยหมดระดูมีภาวะของไขมันในเส้นเลือด (LDL) เพิ่มมากขึ้น เป็นผลทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดแข็งตัว และมีภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงที่ยังไม่หมดระดูอย่างชัดเจน                                            

7.  ระบบประสาทส่วนกลางในการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน  ทำให้เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า จิตใจหดหู่ ร่วมกับมีการเสื่อมถอยของความจำ                                                             

8. อาการอื่น ๆที่อาจพบได้ในวัยหมดประจำเดือน คือ มีความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกทางเพศมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด  มีขนหรือหนวดเคราขึ้น  เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตนเจน                       

การรักษาสตรีที่วัยหมดประจำเดือน                                                                                               

ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และหรือโปรเจสเตอโรนทดแทนในช่วงวัยหมดระดู มีประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาการที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนดีขึ้น จากการศึกษาพบว่าการให้ฮอร์โมนทดแทน จะช่วยทำให้อาการทางระบบหลอดเลือด อาการร้อนวูบวาบ, หงุดหงิด,นอนไม่หลับ,อาการทางระบบทางเดินปัสสาวะดีขึ้น  รวมถึงในเรื่องของภาวะกระดูกพรุน พบว่าการให้ฮอร์โมนจะช่วยลดภาวการณ์เกิดกระดูกหักบริเวณสะโพกและข้อมือลง ประมาณ 40 % ลดกระดูกหักบริเวณอื่น ๆที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง 27 %  เทียบกับผู้ป่วยหญิงสูงอายุที่ไม่ได้รับยาฮอร์โมน การให้ฮอร์โมนจะมีรูปแบบทั้งการรับประทาน แผ่นแปะผิวหนัง หรือการให้ทาเฉพาะที่ การจะเลือกใช้ชนิดใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและการพิจารณาของแพทย์ นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนทดแทนยังช่วยลดภาวการณ์เกิดโรคหัวใจขาดเลือดในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน  และยังช่วยทำให้ภาวะซึมเศร้าดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของความจำโดยจะช่วยยืดระยะเวลาของการเกิดโรคอันไซเมอออกไปในหญิงสูงอายุ(แต่ไม่ได้ช่วยทำให้ป้องกันการเกิดโรคได้)                                                                 

แม้ว่าการได้รับฮอร์โมนทดแทนนอกจากจะมีประโยชน์แก่ผู้ป่วยวัยหมดระดู แต่ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น

-        เลือดออกทางช่องคลอด พบได้บ่อย และทำให้ไม่อยากใช้ฮอร์โมนทดแทน ส่วนใหญ่พบได้ในช่วง 3-6 เดือนแรกที่เริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทน และเมื่อใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างสม่ำเสมอ เลือดที่ออกทางช่องคลอดจะหายไปเอง

-   อาการเจ็บเต้านม อาการนี้จะเป็นเฉพาะช่วงแรกที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนเท่านั้น หลังจากนั้นจะลดลงและหายไป

-       อาการปวดศีรษะไมเกรน

-     น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สตรีวัยทองส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่ายอยู่แล้ว ฮอร์โมนทดแทนไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุของการที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาจากการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะ ความไม่สมดุลระหว่างอาหาร การออกกำลังกาย และอัตราการเผาผลาญอาหารในร่างกายที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การให้ฮอร์โมนทดแทนจะให้ในปริมาณต่ำเท่ากับระดับปกติเท่านั้น ไม่มีการให้เกินขนาด ดังนั้นอาการข้างเคียงจึงมีน้อย

นอกจากนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เนื่องจาก บางการศึกษาพบว่า ไม่สัมพันธ์กันระหว่างการกินฮอร์โมนทดแทนกับมะเร็งเต้านม  บางการศึกษาพบว่าการให้ฮอร์โมนทดแทนมีผลเพิ่มภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม  บางการศึกษาพบว่าภาวะเสี่ยงลดลง อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ WHI (womens health initiative)  พบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น  เมื่อผู้ป่วยได้รับฮอร์โมนทดแทนแบบรับประทานร่วมกัน คือทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสติน แต่อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมลดลง เมื่อได้รับเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว   ทั้งนี้อุบัติการณ์ในการเกิดภาวะเสี่ยงจะขึ้นกับระยะเวลาในการให้ฮอร์โมนทดแทน (ถ้ารับประทานเป็นเวลานานหลายปีโอกาสจะเพิ่มมากขึ้น)  อย่างไรก็ดีในผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม (โดยเฉพาะมารดา หรือพี่สาว) หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งหรือก้อนที่เต้านมมาก่อน  การรับประทานยาฮอร์โมนทดแทนภายหลังการหมดประจำเดือนยังไม่เป็นที่แนะนำ                                                                                  

นอกจากการให้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยหญิงที่มีภาวะหมดระดูแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นทๆ นอกจากการรับประทานยาฮอร์โมน เช่น การรับประทานแคลเซียมวันละ 1,000 – 1,500 มิลลิกรัม  การรับประทานยาบำรุงกระดูกบางชนิด การรับประทานอาหารที่มีสารเอสโตนเจนจากธรรมชาติ เช่น พวกถั่วเหลือง ก็สามารถให้ทดแทนได้ในกรณีที่ไม่สามารถรับประทานยาฮอร์โมนได้ การดูแลสุขภาพโดยทั่วไป                                    

ข้อควรปฏิบัติของสตรีผู้ที่มีภาวะหมดระดู                                                                                         

1. อาหาร สตรีวัยหมดระดูควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานพร้อมก้าง ผักใบเขียว เป็นต้น แคลเซียมที่รับประทานจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูกเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ควรควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือดโดยงดรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย                             

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ เต้นรำ รำมวยจีน เต้นแอโรบิก เป็นต้น                 

3. ฝึกการควบคุมอารมณ์ ให้มีความคิดในทางบวก และทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน                           

4. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง ตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจภายในเช็คมะเร็งปากมดลูก ตรวจหามะเร็งเต้านม (Mammography) และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density) รวมทั้งการตรวจระดับของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง        

Comments